ความสำคํญของกฎหมาย

ความสำคัญของกฎหมาย
ปัจจุบันกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์แต่ละคน อย่างมากตั้งแต่มนุษย์อยู่ในครรภ์มารดา กฎหมายก็เข้ามารับรองสิทธิของทารกในครรภ์มารดาพอทารกคลอดออกมาแล้วกฎหมายก็บังคับ ให้เจ้าบ้านหรือบิดามารดาต้องไปแจ้งเกิดเพื่อขอรับสูติบัตร เมื่ออายุ 15 ปี กฎหมายก็บังคับให้ต้องทำบัตรประชาชน โตขึ้นมาอีกจะแต่งงานกฎหมายก็บังคับให้ต้องจดทะเบียนสมรส พอแก่ตัวใกล้จะตาย กฎหมายก็เปิดทางให้สามารถกำหนดการเผื่อตาย โดยการทำพินัยกรรม จนกระทั่งคนตายกฎหมายก็บังคับให้ผู้พบเห็นการตายต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ
กฏหมายมีลักษณะสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.กฏหมายมีลักษณะเป็นข้อบังคับ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
บังคับไม่ให้กระทำ เช่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ห้ามเสพสิ่งเสพย์ติด
บังคับให้กระทำ เช่น ประชาชนชาวไทยเมื่อมีอายุ 15 ปี ต้องมีบัตรประจำตัวประชาขน ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีอากร เป็นต้น
2. กฏหมายมีลักษณะเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดมีขึ้นโดยผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ เช่น ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ออกกฏหมาย ส่วนประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีรัฐสภาเป็นผู้ออกกฏหมาย และพระราชบัญญัติ มีรัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกำหนด พระราชกฤษฏีกาและกฏกระทรวง
3.กฏหมายจะต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้กับบุคคลทุกคนในรัฐโดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างเสมอภาคไม่ว่าคนนั้นจะถือสัญชาติใดก็ตาม
4. กฏหมายมีผลบังคับใช้ตลอดไป จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก5. ผู้ใดฝ่าฝืนกฏหมายต้องได้รับโทษ การปฏิบัติตามกฏหมายไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้ปฏิบัติ แต่เกิดจากการถูกบังคับ ดังนั้นเพื่อให้การบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน ได้แก่
ความผิดทางอาญากำหนดโทษไว้ 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน
วิธีการเพื่อความปลอดภัย เป็นมาตรการเพื่อให้สังคมปลอดภัยจากการกระทำของผู้กระทำผิดที่ติดเป็นนิสัยไม่มีความเข็ดหลาบ โดยไม่ถือว่าเป็นโทษทางอาญา ตามประมวลกฏหมายอาญากำหนดไว้ 5 ประการ คือ การกักกัน ห้ามเข้าเขตกำหนด เรียกประกันทัณฑ์บน คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล และห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง
กฏหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ กฏหมายที่บัญญัติออกมาต้องมาจากรัฐที่มีเอกราช
พนักงานของรัฐเป็นผู้บังคับให้เป็นไปตามกฏหมาย หมายความว่า เมื่อมีการกระทำผิดที่ฝ่าฝืนกฏหมาย จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจะแก้แค้นหรือลงโทษกันเองไม่ได้บุคคลเหล่านี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พิพากษา เป็นต้น

ที่มาของกฏหมาย

แหล่งที่มาของกฏหมายมีอยู่มากมายหลายทาง และมีวิวัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทังนี้สามารถแบ่งแหล่งที่มาของกฏหมายได้ดังนี้
จารีตประเพณี เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเรื่องของการยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน
การออกกฏหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการปกครองระบอบราชาธิปไตย การออกกฏหมายจะเป็นพระบรมราชโองการของกษัตริย์ ต่อมาอำนาจในการออกกฏหมายเป็นของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการออกกฏหมายโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือ สถาบันรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติ ปัจจุบันรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเป็นแหล่งออกกฏหมายโดยตรง
คำสั่งและกฤษฏีกาที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เป็นกฏหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออกมาบังคับใช้
คำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของศาลคือแหล่งที่มาของกฏหมายนั้นๆ เช่น กรณีที่ผู้พิพากษาเคยตัดสินคดีในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน เมื่อมีคดีลักษณะเช่นเดียวกันเกิดขึ้นมาอีก ผู้พิพากษาจะยึดเอาคำตัดสินที่แล้วมาเป็นหลัก
ความคิดเห็นของนักวิชาการ นักวิชาการกฏหมายมีส่วนช่วยให้เกิดกฏหมายใหม่ๆ ขึ้นบังคับใช้ในสังคม หรือนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฏหมายต่างๆ ทีไม่มีความยุติธรรมหรือไม่มีความเท่าเทียมกันในสังคม ให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กฏหมายเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจาก 20 ปี เป็น 18 ปี ฯลฯ
กลับข้างบน